บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการฟื้นฟ ูและ พัฒนาประเทศ และโดยที่ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงได้มีมติให้สร้างเขื่อนอเนกประสงค์เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และ เพื่อประโยชน์ในด้านการชลประทานขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก โดยได้รับพระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อของเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนภูมิพล"

การก่อสร้างเขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตัน ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์ในระหว่างการก่อสร้าง รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ดำเนินการจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อผลิตปูนซีเมนต์สำหรับใช้ในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้้

 

บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 บริษัทฯ ได้ทำการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกขึ้นที่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 185 กิโลเมตร ในระยะแรกโรงงานมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์วันละ 360 ตัน และต่อมาได้มีการปรับปรุงเป็นระยะๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้โรงงานตาคลีมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ 2,700 ตันต่อวัน

 

เมื่อความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด จึงได้สร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สองขึ้นที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร การก่อสร้างโรงงานชะอำเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2512 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2514 และ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ในระยะแรกโรงงานชะอำมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ได้วันละ 1,560 ตัน ต่อมาได้มีการปรับปรุงเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการปรับปรุงในระยะแรกได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2533 ทำให้มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ตันต่อวัน และเมื่อการปรับปรุงในระยะที่สองแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานชะอำจึงเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2,700 ตัน

 

ปัจจุบันนี้ โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด ทั้งสองแห่งคือ โรงงานตาคลีและโรงงานชะอำ มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวมกันทั้งสิ้นปีละ 2.3 ล้าน ตัน และผลิตปูนซีเมนต์ออกจำหน่ายหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท I ; บัวแดง , บัวแดง เอ๊กซ์ตร้า
  • ปูนซีเมนต์ผสม; บัวเขียว, บัวฟ้า , บัวซูเปอร์ 
  • ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท III ; บัวดำ
  • ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท V ; บัวฉลาม
  • ปูนซีเมนต์สำหรับงานขุดเจาะบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ; Well Cement 
  • ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก; บัวแดงไฮเทค 
  • ปูนสำเร็จรูป บัวมอร์ตาร์ เบสิค มี 4  ประเภท
    • บัวมอร์ตาร์ : ฉาบทั่วไป
    • บัวมอร์ตาร์ : ก่อทั่วไป
    • บัวมอร์ตาร์ : ฉาบอิฐมวลเบา
    • บัวมอร์ตาร์ : ก่ออิฐมวลเบา
  • ปูนสำเร็จรูป บัวมอร์ตาร์เทคนิคคอลมอร์ตาร์ 
    • บัวมอร์ตาร์ กาวซีเมนต์ FIX 
    • บัวมอร์ตาร์ กาวซีเมนต์ FIX XL
    • บัวมอร์ตาร์ สกิมโค้ท สีเทา
    • บัวมอร์ตาร์ สกิมโค้ท สีขาว 

 

ในปี พ.ศ. 2546 บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์เอซีย จำกัด (มหาชน) ได้ผนวกการบริหารงานเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการ เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และรวมการบริหารจัดการทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ บัญชีและการเงิน การตลาดและการขาย การผลิต การจัดซื้อและจัดหา ทรัพยากรบุคคล และอื่นๆ ภายใต้การบริหารงานของทีมงานมืออาชีพ ทำให้ในปัจจุบันบริษัทฯ สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าในด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น


ก้าวย่างแห่งการพัฒนา  

 

12 กันยายน 2499

จดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด

ปี 2501

โรงงานปูนซีเมนต์ตาคลีแล้วเสร็จ

ปี 2514

โรงงานปูนซีเมนต์ชะอำแล้วเสร็จ

18 พฤษภาคม 2514

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด โรงงานปูนซีเมนต์ชะอำ

ปี 2533

การปรับปรุงโรงงานปูนซีเมนต์ชะอำ ระยะแรกแล้วเสร็จ

ปี 2535

การปรับปรุงโรงงานปูนซีเมนต์ชะอำ ระยะที่สองแล้วเสร็จ

มีนาคม 2546

ควบรวมกิจการกับบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน)


โรงงานของเรา

โรงงานตาคลี

โรงงานปูนซีเมนต์ตาคลีเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2501 บนเนื้อที่ 58 ไร่ ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรค์ ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 185 กิโลเมตร และนับเป็นโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคเหนือแห่งแรกของประเทศไทย
โรงงานตาคลีมีเหมืองหินปูนสองแห่งซึ่งอยู่ห่างจากตัวโรงงาน 0.8 กิโลเมตร และ 4.2 กิโลเมตรตามลำดับ โรงงานประกอบด้วยหม้อเผาแบบหมุนสองเครื่อง


โรงงานชะอำ

โรงงานปูนซีเมนต์ชะอำเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2514 โรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร

เหมืองหินปูนของโรงงานชะอำตั้งอยู่ห่างจากโรงงานประมาณ 0.5 กิโลเมตร โรงงานชะอำมีหม้อเผาแบบหมุนจำนวนหนึ่งเครื่อง

 

การผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานตาคลีและโรงงานชะอำในระยะแรกใช้กรรมวิธีผลิตแบบเปียก (Wet Process) โดยต่อมาได้ปรับปรุงเป็นระบบเผาหมาด (Semi-Dry Process) ปัจจุบันโรงงานทั้งสองแห่งน ี้ใช้กรรมวิธีผลิตปูนซีเมนต์แบบแห้ง (Dry Process) และใช้ถ่านหิน / ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลักแทนน้ำมันเตา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น แต่มีต้นทุนการผลิตลดลง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 โรงงานตาคลีได้ติดตั้งระบบเพื่อนำเอาแกลบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินและ ลิกไนต์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในระยะแรกนี้จะนำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน / ลิกไนต์ในอัตราประมาณ 5% ก่อน